top of page
Search
  • VLine

คู่มือเลือกซื้อท่อพีวีซี (ตัวอย่างสำหรับงานประปาทุกชนิด)

Updated: Aug 14, 2019


คู่มือเลือกซื้อท่อพีวีซี (ตัวอย่างสำหรับงานประปาทุกชนิด)
คู่มือเลือกซื้อท่อพีวีซี (ตัวอย่างสำหรับงานประปาทุกชนิด)


ถึงแม้ท่อพีวีซีจะมีความทนทานมากแค่ไหน ถ้าเราไม่เลือกท่อให้เหมาะกับการใช้งาน ภายในไม่กี่ปีเราก็ต้องเสียเวลามาซ่อมระบบท่อของเราใหม่แน่นอน


เราต้องเลือกใช้ท่อพีวีซีให้เหมาะกับการใช้งาน ท่อน้ำดีใช้ขนาดสี่หุนถึงหกหุน ท่อน้ำทิ้งใช้ขนาด 1 ½” ถึง 2” ท่อระบายอากาศใช้ขนาด 2" และ ท่อโสโครกใช้ขนาด 4” หากเราเลือกใช้ท่อไม่ถูกขนาดเราจะไม่สามารถใช้งานได้ เช่นท่อแตกเพราะทนแรงดันไม่ได้ หรือท่อขนาดเล็กเกินที่จะให้อากาศถ่ายเทได้เป็นต้น


บทความนี้มีไว้เพื่อเป็นคู่มือแนะแนวสำหรับมือใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์แล้วอยากทบทวนความรู้นะครับ หากใครกำลังออกแบบระบบขนาดใหญ่อยู่ ผมแนะนำให้ปรึกษาช่างออกระบบเฉพาะทางด้วย เพราะถ้าซื้อท่อเล็กไปก็จะใช้งานไม่ได้ ซื้อมาใหญ่ไปก็จะเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช้เหตุ


การใช้งานท่อพีวีซีประปาประเภทต่างๆ


ท่อพีวีซีในการประปา

วิธีการใช้ทั่วไปของท่อพีวีซี ก็คือสำหรับการประปา ไม่ว่าจะเป็นในงานโครงการใหญ่ หรือสำหรับการสร้างบ้านให้คนอยู่ก็ตาม ท่อพีวีซีที่มีคุณภาพจะมีความทนทานและมีอายุการใช้งานมากถึง 60 ปีเลย (ท่อที่ไม่ดีแค่ 2-5 ปีก็แตกแล้ว)


ท่อพีวีซีไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีและสามารถทนการกัดกร่อนได้ ทำให้เหมาะกับการใช้ในระบบประปาน้ำดื่มมาก ยิ่งไปกว่านั้นท่อยังแตกยาก หรือต่อให้แตกก็หาวิธีซ่อมได้ง่ายอีกด้วย


ท่อพีวีซีสำหรับท่อโสโครก


ท่อพีวีซีก็เหมะสำหรับการทำท่อน้ำทิ้งเช่นกัน งานท่อน้ำทิ้งจะนิยมใช้ท่อพีวีซีขนาดบางเพราะความเหมาะสมของราคา หากเราใช้ท่อพีวีซีที่หนากว่านี้ (ชั้นความดันสูง) หรือท่อ HDPE/PPR มันก็จะทำให้งบการเดินระบบน้ำเสียน้ำทิ้งเกินเหตุครับ


แน่นอนว่าเพราะท่อพีวีซีไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมี เวลาเราต้องการบำบัดน้ำเสียทีหลังก็ง่ายครับ


ท่อพีวีซีสำหรับการเกษตร

ภายหลังท่อพีวีซีก็เริ่มมีความนิยมในการเกษตรมากขึ้น เพราะผู้ใช้ได้เห็นผลแล้วว่าในระยะยาวท่อพีวีซีช่วยประหยัดได้มากกว่าท่อเกษตรทั่วไป ท่อพีวีซีแข็งตามตลาดจะมีชั้นความดันน้ำ 5, 8.5, 13.5 แต่ท่อเกษตรจะมีชั้นความดันแค่ 4 ไม่มี มาตรฐานการผลิตมาช่วยปกป้องผู้บริโภค และยังมีความบางและเปราะมาก


นอกจากนี้ท่อพีวีซีคุณภาพสูงยังมีการออกแบบให้มีน้ำหนักเบา ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและติดตั้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือท่อพีวีซีมีอยู่อย่างกว้างขวาง; ความแพร่หลายของท่อพีวีซีมีบทบาทสำคัญในการเร่งขั้นตอนการติดตั้งระบบท่อทางการเกษตร

ตัวแปรในการเลือกขนาดท่อ

เวลาเราวางท่อน้ำประปา เราต้องดูว่าท่อน้ำที่จะวางเหมาะสมหรือไม่ เพียงพอกับการใช้งานหรือเปล่า เราควรจะดูปัจจัยดังนี้ครับ

  • ปริมาณน้ำ

  • แรงดันน้ำ

  • ระยะทางการวางท่อน้ำประปา (ท่อน้ำยิ่งยาว น้ำยิ่งไหลช้า)

  • ขนาดและความเร็วของน้ำในเส้นท่อ (ท่อน้ำใหญ่ น้ำยิ่งไหลเร็ว ดูได้จากตาราง)

ขนาดและความเร็วของน้ำในเส้นท่อ

เกร็ดความรู้: น้ำไหลในท่อพีวีซี เร็วกว่าท่อเหล็กหรือท่อซีเมนต์นะ


ที่เขียนมาอาจจะดูเข้าใจยาก ให้ดูเป็นตัวอย่างจริงดีกว่า ถ้าเราต่อท่อยาวหรือใช้ท่อเล็ก น้ำจะไหลช้าพอใช้กับสายยางในสวนก็จะไม่ทันใจใช่ไหมครับ ทีนี้ถ้าน้ำไหลเร็ว ความดันน้ำก็จะเยอะขึ้นเราก็ต้องดูที่ชั้นความดันคุณภาพของท่อแล้ว

หากเข้าใจพื้นฐานแล้ว มาดูว่าท่อแบบไหนถึงเหมาะกับการใช้งานที่สุดกันครับ


ท่อพีวีซีแบบไหนถึงจะเหมาะกับการใช้งาน

ระบบสุขภัณฑ์จะประกอบด้วยท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง ท่อโสโครก และ ท่อระบายอากาศ เนื่องจากวัตถุประสงค์การใช้งานไม่เหมือนกัน เราต้องเลือกขนาดและชั้นความดันท่อให้พอดีกับการใช้งานครับ หากเลือกถูกไปก็จะทำให้ระบบมีปัญหาภายหลัง หากเลือกแพงไปก็เป็นการเสียเงินเกินจำเป็น


หากใครรู้ชักช่างประปา ช่างทำระบบ หรือผู้รับเหมาอยู่แล้ว สามารถสอบถามหาข้อมูลเพิ่มได้ แต่หากอยากจะศึกษาด้วยตัวเองก็ดูได้ดังนี้ครับ

  • ท่อน้ำดี – คือท่อที่มีไว้ต่อเข้ากับสุขภัณฑ์ต่างๆ น้ำที่ผ่านท่อพวกนี้คือน้ำที่คุณต้องใช้ในชีวิตทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม น้ำใช้ ยกตัวอย่างเช่น ห้องครัว อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ โถส้วม โถปัสสาวะ เวลาสร้างบ้านหรือโครงการ แนวทางการเดินระบบท่อน้ำดีก็จะถูกกำหนดไปด้วย ท่อน้ำดีส่วนมากจะใช้ท่อ ¾” หรือหกหุน และใช้ต่อเข้ากับท่อ ½” หรือสี่หุนที่เป็นสุขภัณฑ์ต่างๆ หากเป็นท่อฝังดินหรือต่อเข้ากำแพงให้เลือกใช้ท่อแรงดันน้ำ 13.5

  • ท่อน้ำทิ้ง – ท่อน้ำทิ้งคือท่อมีไว้ลำเลียงน้ำเสีย หรือน้ำที่ไม่ใช้แล้วออก ยกตัวอย่างเช่นน้ำจากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรือน้ำระบายพื้น ท่อส่วนมากจะเป็นขนาด 1 ½” ถึง 2” เวลาต่อต้องทำให้ท่อมีความลาดเอียงประมาณ 1/50 โดยใช้กับข้อต่อ 45องศา หากเป็นท่อฝังดินหรือต่อเข้ากำแพงให้เลือกใช้ท่อแรงดันน้ำ 13.5 เช่นกัน แต่ท่อน้ำทิ้งแอร์ใช้แค่ ¾” ถึง 1” ก็พอครับ

  • ท่อโสโครก – เป็นท่อน้ำขนาดใหญ่ 4” ใช้ระบายสิ่งโสโครกเช่นจากโถส้วมและโถปัสสาวะ น้ำจากท่อโสโครกต้องนำไปบำบัดน้ำเสีย การตั้งท่อโสโครกต้องทำให้มีความลาดเอียง ในอัตราส่วนทุก 1 เมตรลาดลง 2 เซนติเมตร เนื่องจากว่าท่อโสโครกจะมีสิ่งปฏิกูลอยู่เราต้องใช้ท่อใหญ่และต้องทำให้ความเอียงเยอะในระดับที่ท่อจะไม่ตัน หากท่อเอียงมากเกินไปสิ่งปฏิกูลจะไหลช้ากว่าน้ำทำให้เราต้องราดน้ำเยอะขึ้น

  • ท่อระบายอากาศ – ท่อระบายอากาศคือท่อขนาด 2” ใช้ต่อกับท่อระบายน้ำ ส่วนมากนิยมต่อท่อระบายอากาศขึ้นไปถึงระดับหลังคา เพื่อทำให้เกินความสมดุลของอากาศในท่อน้ำและท่อโสโครก กลิ่นของเสียและอากาศจะได้ออกไปได้เหนือที่พักผู้คน หากอากาศไม่ถ่ายเท กลิ่นต่างๆจะย้อนกลับมาจากทางเข้าครับ ทำให้ชักโครก โถปัสสาวะเหม็น หากเราติดตั้งท่อระบายอากาศแบบถูกต้องเวลาที่เราลาดน้ำกดน้ำ น้ำจะไล่อากาศและสิ่งปฏิกูลออกไปจากระบบท่อ

เราจะเห็นได้ว่ามุมการต่อท่อก็สำคัญเหมือนกัน เพราะเวลาลำเลียงน้ำในท่อเราต้องใช้แรงโน้มถ่วงช่วย หากเราจัดมุมลำเลียงท่อผิดองศา ความเร็ว แรงดันก็จะเปลี่ยน พวกข้อต่อ 45 องศา 90 องศาถึงเป็นทางเลือกที่ดีของช่างทำระบบ


หากเป็นบ้านชั้นเดียว สองชั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นตึกใหญ่แล้วต้องใช้การวางแผนอย่างดีเลย

28,328 views0 comments

Comentarios


bottom of page