top of page
Search
  • VLine

มาตรฐานการวางท่อประปาในบ้าน [หลักการ ข้อกำหนด และการทดสอบ]

Updated: Jan 9, 2020

สำหรับคนที่ไม่ได้ดูระบบประปาบ่อยการทำความเข้าใจเรื่องระบบท่อประปาอาจจะเป็นเรื่องฟังดูน่าปวดหัว

นอกจากว่าสินค้าอุปกรณ์ประปาจะมีเยอะหลากหลายแล้ว ขั้นตอนในการใช้และในการวางท่อยังต้องทำให้ดีและเรียบร้อยอีกด้วย เพราะถ้าเราทำไม่เรียบร้อยโอกาสที่ระบบจะออกมาล้มเหลว มีน้ำรั่ว ท่อแตก มีอยู่เยอะมาก หากเป็นตั้งแต่ตอนเริ่มติดตั้งก็จะเห็นได้ก่อนและสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าข้อเสียพวกนี้ค่อยๆเกิดตอนที่ช่างไม่อยู่แล้ว เราก็ต้องจ้างคนมาซ่อมระบบอีกที


วันนี้เรามาดูกันว่าการวางท่อในบ้านต้องดูอะไรบ้าง มีมาตรฐาน หลักการ ข้อกำหนด และวิธีทดสอบอะไรบ้างที่เราควรรู้ วิธีในบทความนี้อาจจะฟังดูน่าเบื่อหรือมีรายละเอียดขั้นตอนเยอะไปหน่อยแต่ถ้าเราจะทำให้ดีไม่ต้องมาปวดหัวหรือเสียเงินซ่อมระบบภายหลัง ผมคิดว่ามันสำคัญมากครับ


มาตรฐานการวางท่อประปาในบ้าน


การวางท่อประปาในบ้านหรือในอาคารหมายถึงการติดตั้งระบบท่อพีวีซีเพื่อให้สามารถจ่ายน้ำไปยังส่วนต่างๆของอาคารได้ ระบบประปาดังกล่าวประกอบไปด้วยการจ่ายท่อน้ำหลักและการจ่ายท่อน้ำแนกห้องห้องน้ำแต่ละชั้นเป็นต้น การวางท่อประปารวมถึงการติดตั้งวาล์วต่างๆ ติดตั้งข้อต่อหรืออุปกรณ์ใช้ต่อท่อประปา ติดตั้งถังเก็บน้ำประปา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์เสริมต่างๆเป็นต้น

หลักการการวางท่อประปา


การวางระบบประปาทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบก็คือการวางระบบประปาในอาคารและการวางระบบประปานอกอาคาร หลักการของทั้งสองวิธีมีดังนี้


หลักการวางท่อพีวีซีในอาคาร


หลักการวางท่อพีวีซีในอาคารประกอบด้วยการจัดหาและวางท่อประปาพร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นแล้วยังมีการติดตั้งถังเก็บน้ำและเครื่องสูบน้ำตามความเหมาะสมของงาน การติดตั้งท่อและอุปกรณ์ตามคำแนะนำของผู้ผลิต และการทดสอบและทำความสะอาดท่อประปาด้วย


เวลาติดตั้งท่อเราต้องทำด้วยความประณีต มีการพิจารณาการเลี้ยวการหักมุมและโครงสร้างท่อกับข้อต่อให้เหมาะสม หากเราต้องฝังท่อประปาลงระบบใต้ดินเราต้องติดตั้งให้ระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เมตร หนึ่งในการออกแบบที่เราต้องคำนึงถึงก็คือการติดตั้งร่วมกับวัสดุก่อสร้างและโครงสร้างตึกอื่นๆ สิ่งที่ติดตั้งต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่กีดขวางการใช้สอยของหน้าต่าง ประตู เป็นต้น


หลักการวางท่อพีวีซีนอกอาคาร


หลักการวางท่อพีวีซีนอกอาคาร ประกอบไปด้วยการจัดหาและการวางท่อและอุปกรณ์ประปาต่างๆ การติดตั้งท่อตามคำแนะนำของผู้ผลิต การทดสอบและทำความสะอาดท่อประปา การจัดซ่อมผิวดินหรือพื้นที่นอกอาคารที่โดยผลกระทบจากการติดตั้งระบบท่อ


จุดยากของการวางท่อนอกอาคารก็คือการที่เราต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกเยอะ หากเราเห็นสภาพแวดล้อมจำพวกต้นไม้ สนามหญ้า เราก็อาจจะต้องรับผิดชอบเปลี่ยนตำแหน่งการวางทาอเพื่อหลบหลีกอุปสรรคหรือข้อจำกัดเหล่านี้ การติดตั้งระบบท่อที่ดีต้องส่งผลต่อประชาชนคนอื่นให้น้อยที่สุด


ข้อกำหนดในการวางท่อประปา


เพื่อเป็นการรับประกันว่าการติดตั้งท่อประปาเป็นไปตามมาตรฐานเราต้องทำตามข้อกำหนดต่างๆครับ ในการวางท่อประปาข้อกำหนดที่คุณควรรู้มีอยู่สามรูปแบบ ข้อกำหนดทั่วไป ข้อกำหนดเรื่องท่อและอุปกรณ์ กับข้อกำหนดเรื่องการดำเนินการติดตั้ง


ข้อกำหนดทั่วไปในการวางท่อประปา

ท่อและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวางระบบประปาควรจะมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานตามชั้นความดันน้ำและตามระเบียบของเจ้าของกรรมสิทธ์ในถนนที่วางท่อ ยกตัวอย่างท่ออุปกรณ์และวิธีการติดตั้งควรจะเป็นไปตามหลักความปลอดภัยและหลักสุขาภิบาลเป็นต้น


ส่วนมากแล้วการอนุมัติวัสดุที่ใช้และการออกแบบระบบควรจะต้องจัดหาวิศวกรสิ่งแวดล้อมหรือวิศวกรโยธาที่มีประสบการณ์และได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพเฉพาะทาง ตาม พรบ. วิชาชีพ หรือตามขอบเขตุของกำหนัดงาน


ระบบประปาต้องสามารถจ่ายน้ำไปยังส่วนต่างๆให้เพียงพอและด้วยความดันน้ำที่ต้องการ สิ่งที่สำคัญในการติดตั้งก็คือความปราณีตและความมั่นคงของระบบ เช่นกันเราสามารถหาวิศวกรสิ่งแวดล้อมหรือวิศวกรโยธามารับรองการออกแบบและการติดตั้งได้


ข้อกำหนดเรื่องท่อและอุปกรณ์


เราคงรู้อยู่แล้วว่าท่อและอุปกรณ์ควรจะได้มาตรฐาน แต่มาตรฐานพวกนี้ข้อกำหนดอะไรกันบ้าง


ท่อและอุปกรณ์ที่เลือกต้องเป็นวัสดุที่ใช้ตามความเหมาะสมของแรงดันน้ำได้ อย่างไรก็ตามขั้นตอนการขนส่ง การยกท่อขึ้นลงจากรถบรรทุก และการจัดเก็บท่อจำเป็นต้องทำอย่างมีระมัดระวังและมีระเบียบเพื่อกันไม่ให้สินค้าเสียหายหรือเกิดความสกปรกมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเปื้อน


หากเป็นไปได้ ควรจะเลือกซื้อสินค้าท่อและอุปกรณ์ประปาที่มาจากผู้ผลิตเดียวกัน อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกผู้ผลิตที่จะมีสินค้าทุกอย่าง เราสามาารถอ้างอิงจากคำแนะนำของผู้ผลิตของท่อนั้นๆอีกที


การจัดเก็บท่อพีวีซีสามารถทำได้ทั้งนอกอาคารและในอาคาร สำหรับการจัดเก็บวางท่อนอกอาคารนั้นเราจำเป็นต้องใช้ท่อนไม้ ถุงทราย หรือ กองทรายในการรองรับปลายทั้งสองฝั่ง และต้องเป็นจุดวางที่สามารถวางท่อขนาดยาวสี่เมตรได้ สำหรับการวางท่อในอาคารนั้นเราต้องระวังการขนส่งและการจัดเก็บให้ดี บ่อยครั้งที่ท่อจะกระทบกับตัวอาคารทำให้เกิดความเสียหายที่ตัวท่อหรือตัวอาคารเป็นต้น หากเรามีชั้นวางเก็บท่อเราก็ควรเก็บให้ถูกต้องและเรียบร้อย


ข้อกำหนดเรื่องการดำเนินการติดตั้ง


เราดูเรื่องข้อกำหนดทั่วไปกับข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุแล้ว เรามาดูเรื่องการดำเนินการติดตั้งกันบ้าง


โดยรวมแล้วท่อและอุปกรณ์ รวมถึงวาล์วหรือชิ้นส่วนอื่นๆ ควรจะเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และไม่ได้เป็นของเก่ามากจนทำให้เสื่อมสภาพการใช้งาน โดยรวมแล้ววัสดุพวกพีวีซีจะมีอายุการใช้งานและการเก็บนาน แต่ข้อควรระวังก็คือการทำความสะอาดก่อนเพราะท่ออาจจะมีความสกปรกจากการเก็บไว้เป็นต้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำวัสดุพวกนี้ไปใช้ เราควรมีการตรวจคุณภาพดูความเหมาะสมตามลักษณะงานเสียก่อน


มาตรฐานทั่วไปของอุปกรณ์ประปาก็คือ มาตรฐาน มอก. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ท่อพีวีซีทั่วไปจะมี มอก. รับรองอยู่แล้ว แต่การใช้อุปกรณ์ประปาอื่นๆจำเป็นต้องดูตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆอีกทีหนึ่ง


การทดสอบระบบท่อประปา

เพื่อเป็นการมั่นใจว่าระบบท่อของเราสามารถใช้การได้จริงและมีอายุการใช้งานยืนยาว เราจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบระบบประปาหลังติดตั้งเสร็จ เหมือนขั้นตอนการติดตั้งอื่นๆ เราสามารถแบ่งการทดสอบระบบประปาเป็นสองวิธีก็คือการทดสอบระบบประปานอกอาคาร และ การทดสอบระบบประปาในอาคาร


การทดสอบระบบท่อประปาในอาคาร


สำหรับระบบท่อประปาในอาคาร เราควรทดสอบระบบเป็นช่วงๆเพื่อทดสอบการรั่วซึมของน้ำ ท่อที่ฝังดินหรือฝังในผนังจำเป็นต้องทดสอบการรั่วซึมก่อนกลบลงไปในดินหรือฉาบปูนปิดผนังเป็นต้น เมื่อเราติดตั้งระบบท่อเสร็จแล้วทั้งระบบให้เราตรวจสอบความเรียบร้อยอีกรอบเพื่อให้มั่นใจว่าระบบไม่มีการรั่วซึม


หากเราพบว่ามีการรั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นที่วัสดุท่อหรือวิธีการติดตั้ง ให้แก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ทันทีจนกว่าระบบจะใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการทุกอย่าง วิธีที่ไม่แนะนำก็คือห้ามปะปิดรูรั่วซึมโดยเด็ดขาด ให้เปลี่ยนใหม่เท่านั้น


การทดสอบระบบท่อประปานอกอาคาร


ขั้นตอนการทดสอบระบบประปานอกอาคารจะเหมือนกับการทดสอบในอาคารตรงที่เราต้องดูระบบทุกที่ ให้ทำทุกช่วง หากมีการเทแท่นคอนกรีตทับท่อ เราจำเป็นต้องรอ 36 ชั่วโมงก่อนที่จะทดสอบระบบท่อทั้งหมด สำหรับระบบใหม่เราต้องทดสอบความดันน้ำในท่อและการรั่วซึมของท่อน้ำด้วย การทดสอบสองอย่างนี้สามารถทำได้พร้อมกัน แต่จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ เราไม่ควรต่อท่อเข้ากับระบบในอาคารถ้ายังตรวจและทดสอบระบบท่อนอกอาคารไม่เรียบร้อย


การทดสอบอัดความดัน


สำหรับการทดสอบระบบท่อทั้งในและนอกอาคารนั้นส่วนที่สำคัญคือการทดสอบระบบความดันน้ำ สำหรับท่อนอกอาคารที่มีขนาดเล็กกว่า 1½” ให้เราใช้ความดันอย่างน้อย 0.6 เมกาปาสกาล (0.6 MPa) โดยเราควรที่จะคงความดันนี้ไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง หากเป็นท่อในอาคาร เราควรทดสอบด้วยการใช้ความดันที่สูงกว่าความดันใช้งานทั่วไปประมาณ 50% ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง


บทความนี้อาจจะมีขั้นตอนและวิธีที่ยุ่งยากไปหน่อยแต่ผมคิดว่าขั้นตอนพวกนี้สำคัญมากครับ หากเราไม่ทำตามหลักการ ดูแล และ ตรวจสอบให้เรียบร้อย การวางท่อประปาอาจจะมีปัญหาภายหลังได้


ดูข้อมูลของเราเพิ่ม

12,222 views0 comments
bottom of page