top of page
Search
  • VLine

ชั้นของท่อ PVC (ชั้น 5, 8.5, 13.5) คือหน่วยรับแรงดันของท่อนั้นๆ

Updated: Dec 3, 2019

ผู้ซื้อหลายคนได้รับรายการท่อมาจากช่างหรือผู้รับเหมา แต่พอเอารายการไปให้ร้านขายท่อ คนขายก็จะถามว่า


“รับชั้นความดันเท่าไรดีครับ” หรือ "รับท่อบางหรือท่อหนาดีครับ"


หากทางผู้วางระบบไม่ได้ระบุมาหรือผู้ซื้อไม่ได้มีความรู้ด้านนี้อาจจะงงกันได้ ว่าท่อ 8.5, 13.5 คืออะไร ท่อหนาบางเป็นยังไง และ ชั้นหรือclass คืออะไรกันแน่

วันนี้เรามาดูกันว่าคำศัพท์ของชั้นความดันท่อพีวีซีมีอะไรและแปลว่าอะไรกันบ้างครับ


ชั้นความดันท่อพีวีซีคืออะไร


ชั้นความดันของท่อพีวีซี หรือบางคนเรียกว่าความหนา คลาส (class) หรือ ชั้นคุณภาพคือตัวบอกว่าท่อแต่ละชนิดจะสามารถทนแรงดันน้ำได้มากเท่าไร


ท่อ PVC จะแบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นจะทนแรงดันน้ำ (Pressure) ได้ต่างกัน ดังนี่

  • ท่อพีวีซีชั้น 5 หมายความว่า ท่อสามารถทนแรงดันได้ 5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร

  • ท่อพีวีซีชั้น 8.5 หมายความว่า ท่อสามารถทนแรงดันได้ 8.5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร

  • ท่อพีวีซีชั้น 13.5 หมายความว่า ท่อสามารถทนแรงดันได้ 13.5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร

โดยที่มาตรฐานนี้จะจำกัดไว้สำหรับท่อที่อุณหภูมิ 27 C เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ มอก. ของท่อพีวีซีได้กำหนดไว้


ท่อพีวีซีแต่ละชั้นความดันก็จะมีขนาดและน้ำหนักต่างกันด้วย


ส่วนท่อเกษตรที่หลายคุณรู้จักจะทนแรงดันได้ 4 กก ต่อตารางเซนติเมตรครับ


ท่อพีวีซีรับแรงดันได้กี่ MPa? Psi? Bar?


ตามมาตรฐาน ท่อพีวีซีแต่ละชั้นความดันรับแรงดันได้เท่านี้ครับ

  • ท่อพีวีซีชั้น 5 รับแรงดันได้ 0.5MPa หรือ 5 Bar หรือ 7.25 Psi

  • ท่อพีวีซีชั้น 8.5 รับแรงดันได้ 0.85MPa หรือ 8.5 Bar หรือ 123.3 Psi

  • ท่อพีวีซีชั้น 13.5 รับแรงดันได้ 1.35MPa หรือ 13.5 Bar หรือ 195.8 Psi

ดูความดันท่อพีวีซียังไง


หากเป็นท่อพีวีซีที่ยังไม่ได้ตัด หรือท่อทียังมีส่วนสกรีน มอก. อยู่ เราสามารถดูชั้นความดันได้จาก สกรีนของท่อได้เลยครับ ยกตัวอย่างเช่นภาพข้างล่าง


ให้สังเกตุว่าจะมีคำว่า PVC8.5 อยู่ก่อนสัญลักษณ์ มอก. แปลว่าเป็นท่อ 8.5


แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าท่อที่มีอยู่มัน มอก. อะไร เราก็ต้องวัดจากขนาดมันครับ ดูได้ที่ ตารางขนาดท่อพีวีซีของเรา ขออธิบายง่ายๆก็คือใช้ตัววัดความหนา แล้วกันวัดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก แล้วเทียบกับตารางได้เลย


หรือถ้าคุณเป็นฝ่ายจัดซื้อ หรือผู้ใช้ทั่วไปที่มีคนให้รายการมาอีกที คุณก็สามารถศึกษาเรื่องท่อและวิธีการใช้ได้เบื้องต้นจากบทความนี้ คู่มือเลือกซื้อท่อพีวีซี (ตัวอย่างสำหรับงานประปาทุกชนิด)


วิธีดูเบื้องต้นนะครับ ให้ดูจากตัวงานว่าเป็นงานแบบไหน ง่ายๆสามขั้นตอน


1. ท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง หรือ ท่อโสโครก

2. งานต้องเป็นท่อฝังดินหรือเปล่า

3. งานท่อประธาน (ท่อเมน) หรือท่อย่อย


แค่นี้ก็ค่อนข้างพอสำหรับการดูความดันแล้ว หรือถ้าไม่สะดวกจริงๆก็เอาข้อมูลพวกนี้ไปถามร้านค้าก็ได้ ร้านส่วนมากน่าจะเดาได้จากข้อมูลที่ให้มาข้างบน


ยิ่งชั้นความดันสูงราคาท่อยิ่งแพง


สาเหตุที่คนส่วนมากเลือกใช้ท่อชั้นความดันต่ำ (หรือบางคนเรียกว่าท่อบาง) ก็เพราะมันมีราคาถูกกว่า โดยรวมแล้วถ้าเราใช้งานลำเลียงน้ำทั่วไปเราใช้ท่อชั้นความดันต่ำได้แน่นอนครับ บางทีราคาก็อาจจะต่างกัน 20-30% เลยทีเดียว (ราคาตั้งท่อ 1/2" ชั้น 13.5 คือ 53 บาทเทียบกับชั้น 8.5 ราคา 42 บาท)


ส่วนมากโครงการที่มีงบมากหน่อยก็เลือกที่จะใช้ท่อชั้นที่ดีที่สุด หรือท่อชั้น 13.5 ไปเลยเพราะจะได้หมดปัญหาเรื่องการใช้งานหลังติดตั้งไปได้เยอะ


แต่ปัญหาก็คือการทำระบบท่อประปา โดยเฉพาะระบบในบ้านหรือในอาคาร มันต้องมีการควบคุมระบบความดันเยอะเพื่อที่จะให้แรงดันน้ำสม่ำเสมอกันทุกที่ (เช่นก๊อกน้ำแต่ละที่ของแต่ละชั้นของตึก) หากเราใช้ท่อไม่ถูกการใช้งานก็จะมีปัญหาครับ ลองดูราคาท่อ PVC เพื่อเปรียบเทียบได้


ถ้าใช้ท่อพีวีซีไม่ถูกชั้นแรงดันจะเป็นอย่างไร


จะมีสองกรณีก็คือการเลือกใช้ท่อพีวีซีที่รับแรงดันน้ำไม่ได้ หรือท่อพีวีซีที่สามารถรับแรงดันน้ำได้เกินกำหนด

  • กรณีเลือกใช้ท่อที่ไม่สามารถรับแรงน้ำได้ ยกตัวอย่างเช่นแรงดันน้ำคือ 10 กก. ต่อตารางเซนติเมตรแต่เราเลือกใช้ท่อชั้น 8.5 แทนที่จะเป็นชั้น 13.5 การเลือกใช้งานท่อแบบนี้จะทำให้อายุการใช้งานน้อยลงและทำให้ท่อแตกได้เนื่องจากตัวท่อไม่สามารถรับแรงดันได้

  • กรณีเลือกใช้ท่อที่สามารถรับแรงน้ำได้แต่เกินกำหนด - ยกตัวอย่างเช่นแรงดันน้ำคือ 7 กก. ต่อตารางเซนติเมตรแต่เราเลือกใช้ท่อชั้น 13.5 แทนที่จะเป็นชั้น 8.5 การเลือกใช้งานท่อแบบนี้จะทำให้อายุการใช้งานมากขึ้นแต่จะเปลืองงบประมาณมากเช่นกันเพราะท่อ 13.5 จะมีราคาแพงกกว่าท่อ 8.5 ประมาณ 20-40% เลยทีเดียว

สรุปแล้วก็ใช้ท่อที่ทนความดันไม่ได้จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และใช้ท่อที่ทนความดันได้ดีเกินไปจะทำให้เปลืองงบประมาณครับ สามารถดูราคาท่อพีวีซีแต่ละชั้นความดันได้ที่นี่


ชั้นความดันและความหนาเหมือนกันไหม


หลายคนชอบใช้ความหนาและความบางในการอธิบายชั้นความดันน้ำ ซึ่งก็ใช้ได้แต่มันก็ไม่ถูกซะทีเดียว


ปัญหาก็คือท่อและมาตรฐานการใช้งานที่ มอก. แนะนำ สามารถรับประกันได้แค่แรงดันน้ำ เท่ากับว่าผู้ผลิตแต่ละโรงงานอาจจะผลิตท่อที่มีความหนาไม่เท่ากันแต่รับแรงดันได้เหมือนกันก็ได้ (หนาบางต่างกันนิดหน่อย แต่ใช้งานได้เหมือนกัน หากจะให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนกระดาษA4 เป็นต้น)


เวลาคุณบอกร้านค้าว่าอยากได้ท่อแบบความหนาเท่านี้ (ซึ่งตามความจริงก็คือ คุณอยากได้ท่อที่หนาพอใช้ในแรงดันน้ำบางประเภทได้) คุณอาจจะได้สินค้าที่หนาต่างกันนิดหน่อย ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตครับ


เลือกใช้ท่อพีวีซี ชั้นความดันไหนดี


เราต้องเลือกใช้ท่อให้เหมาะกับการใช้งาน หากคุณคำนวณแรงดันน้ำหรือแรงกดไม่เป็นสามารถใช้วิธีประเมิณแรงดันจากการใช้งานแบบคร่าวๆได้ดังนี้:

  • ท่อพีวีซี ชั้น 5 – เป็นท่อบางเหมาะสำหรับงานที่มีแรงดันน้อย เช่นการทำระบบท่อฝน ท่อเกษตร หรือท่อน้ำทิ้ง

  • ท่อพีวีซี ชั้น 8.5 – เหมาะสำหรับงานสุขาภิบาล และการเกษตร ส่วนมากจะใช้สำหรับงานที่ทนระบบแรงดันได้มากกว่าท่อชั้น 5

  • ท่อพีวีซี ชั้น 13.5 – เป็นท่อที่มีความหนาที่สุด เหมาะสำหรับท่อที่มีแรงดันสูง ส่วนมากจะใช้เป็นท่อหลัก ท่อเมน หรือท่อประธาน

ลักษณะของท่อน้ำมีผลต่อแรงดันน้ำแค่ไหน


อย่างที่ทราบกันก็คือท่อชั้น 13.5 มีราคาแพงกว่าท่อชั้นความดันอื่น ซึ่งเราก็มีหลายวิธีในการต่อท่อที่ทำให้แรงดันท่อเปลี่ยน และจะช่วยในการออกแบบระบบท่อประปาได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ความคดเคี้ยวของระบบท่อ – ท่อยิ่งคดเคี้ยวยิ่งทำให้เสียแรงดัน

  • แรงเสียดทานและความยาวของท่อ – ท่อยิ่งยาว ยิ่งมีแรงเสียดทานเยอะ ยิ่งทำให้ความดันลด

  • ปลายท่อเปลี่ยนขนาด – ยิ่งขนาดท่อส่วนปลายยิ่งเล็กลงเท่าไหร่ แรงดันน้ำจะมากขึ้น ตามสัดส่วน

ข้อแนะนำสำหรับชั้นความดัน


เวลาพูดถึงชั้นความดันของท่อเราก็จะนึกถึงแต่ตัวท่อพีวีซี แต่ความจริงเรายังต้องพิจารณาตัวแปรอื่นในการออกแบบระบบท่อพีวีซีด้วย ได้แก่

  • ชั้นความดันของท่อ บางครั้งก็หมายถึงความหนาและคุณภาพที่มากกว่าด้วย สำหรับงานฝังดินหรือฝังกำแพงเราก็ต้องดูแรงดันจากภายนอกด้วย

  • ข้อต่อและอุปกรณ์ก็สำคัญ จุดบอดของระบบท่อส่วนมากจะอยู่ที่ข้อต่อมากกว่าและเวลาที่น้ำรั่วต่างๆก็จะมาจากช่วงต่อระหว่างท่อและอุปกรณ์ เวลาทำระบบเราควรที่จะเลือกอุปกรณ์ที่ผู้จำหน่ายแนะนำมาเพื่อให้ได้คุณภาพในการต่อที่มากที่สุด

  • กาวทาท่อ ก็เป็นอีกส่วนในการต่อท่อ สำหรับน้ำที่มีความดันสูงเราควรรอเวลาให้กาวแห้งนานกว่าเดิม ผู้ผลิตแนะนำว่าควรจะรออย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนใช้ท่อครับ


ข้อมูลท่อพีวีซีอื่นๆ

80,336 views0 comments
bottom of page