หลายคนชอบทำระบบประปาด้วยตัวเองเพราะสนุก หลายคนชอบทำเองเพราะไม่อยากพึ่งช่าง
ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องเข้าใจวิธีเดินระบบประปาให้ดีและเข้าใจวิธีการใช้อุปกรณ์วัสดุประปาทั้งหลายก่อน ไม่อย่างนั้นคุณคงต้องปวดหัวหาคนมาซ่อมระบบประปาของคุณเรื่อยๆแน่
การเข้าใจระบบประปาด้วยตัวเองทำให้
ป้องกันการทำระบบประปาแบบผิดๆ
ทำการตัดสินใจเรื่องระบบประปาได้ดีขึ้น
ทำงานระบบประปาได้เร็วขึ้น
สามารถปรับปรุงระบบประปาด้วยตัวเองได้
เรียนรู้เรื่องระบบประปาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ในวันนี้เรามาลองศึกษาวิธีการเดินระบบประปาด้วยตัวเองแบบง่ายๆ และไม่วิชาการมากกันครับ
เข้าใจเกี่ยวกับการเดินระบบประปา
สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนจะลงระบบประปาคือการทำความเข้าใจวัสดุและอุปกรณ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นท่อพีวีซี อุปกรณ์ต่างๆ เทปพันเกลียว กาวทาท่อ และ กรรไกรตัดท่อ
อาจจะฟังดูเยอะและเข้าใจยาก แต่อุปกรณ์พวกนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านฮาร์ดแวร์ทั่วไป แต่ถ้าอยากซื้อในจำนวนมากก็ควรจะลองหาร้านขายวัสดุก่อสร้างแบบขายส่งครับ
หากเข้าใจแล้วเรามาลองศึกษาเกี่ยวกับพวกสินค้าและเครื่องมือประปากันครับ
ท่อพีวีซีสำหรับระบบประปา
ท่อพีวีซี หรือท่อประปา คือท่อที่ใช้เป็นท่อน้ำดื่ม ท่อพีวีซีมีสามชั้นความดัน (ความหนา) ไว้ใช้สำหรับงานประปาหลายแรงดัน ท่อสามชั้นความดันได้แก่ ท่อชั้น 5 ท่อชั้น 8.5 และท่อชั้น 13.5
ความดันหมายความว่าท่อชั้น 5 ทนความดันน้ำได้ 5กกต่อตารางเซนติเมตร
ท่อพีวีซีปกติจะมีความยาวสี่เมตร และสำหรับท่อในบ้านส่วนมากจะใช้ชั้นความดัน 8.5 แต่หากมีงบมากหน่อยใช้ชั้นความดัน 13.5 ก็ได้ ราคาต่างกันประมาณ 30%
สามารถดูขนาดและน้ำหนักของท่อพีวีซีได้ และก่อนซื้อให้ดูท่อที่มี มอก. ด้วยนะครับ
อุปกรณ์ต่อท่อพีวีซี
อุปกรณ์มีไว้เชื่อมท่อพีวีซีเข้าด้วยกันเพื่อทำระบบ ศึกษาเรื่องอุปกรณ์ท่อพีวีซีเพิ่มเติมได้ที่นี่
ในชิ้นส่วนอุปกรณ์ข้อต่อท่อ จะมีบ่าเล็กๆอยู่(เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งบ่าจะเป็นตัวบอกว่าเราต้องดันท่อเข้าไปในข้อต่อมากแค่ไหน
ต้องสวมท่อหลังทากาวทั้งสองด้าน ให้เข้าไปสุดถึงเส้นนี้ หากเป็นมือใหม่สามารถใช้ปากกามาร์คไว้ว่าบ่าอยู่ส่วนไหน (จะใช้ตลับเมตรช่วยวัดก็ได้) แล้วกดท่อเข้าไปให้ถึง ส่วนมากท่อ1/2นิ้ว (4 หุน) จะมี บ่าลึก 3ซม, ท่อ3/4นิ้วมีบ่าลึก 3.5ซม, ท่อ1นิ้วมีบ่าลึก 5ซม
แล้วสวมท่อเข้าไปให้สุดจนชนบ่า ให้สวมไปตรงๆ กดไว้อย่าให้คลาย นับ1-10 ปล่อยได้เพื่อให้มันใจว่ากาวทาท่อเชื่อมท่อและอุปกรณ์เข้ากันแล้ว
ส่วนเมื่อไหร่ใช้งานเปิดน้ำเข้าไปได้นั้น ตามทฤษฎีบอกว่า 24ชั่วโมงหลังจากต่อท่อเสร็จ แต่หากไม่ได้ใช้แรงดันมากมาย แค่15นาทีก็ใช้ได้
เทปพันเกลียว
เทปพันเกลียวมีไว้เชื่อมเกลียวอุปกรณ์เข้าด้วยกันเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วออกมาตามเกลียว
วิธีพันเทปพันเกลียวที่เกลียวนอกให้พันตามเข็มนาฬิกา(เมื่อหันด้านเกลียวเข้าหาตัว) หรือหงายม้วนเทป พันออกนอกตัว พันขึ้น ถึงด้านหลัง ลงล่าง มาด้านหน้า พันขึ้น
ตอนพันเทป ให้พยายามรั้งๆไว้ให้เทปกับตัวเกลียวค่อนข้างแน่น ส่วนเรื่องความหนาในการพันเทปขึ้นอยู่กับชิ้นงาน ส่วนมากยิ่งหน้ายิ่งดี
สำหรับก๊อกน้ำ เพื่อจะได้ขันเข้าได้ง่ายขึ้นโอกาสปีนเกลียวน้อยลง ให้พันให้หนาพอควรด้านใน โดยที่ด้านนอกให้บางกว่าด้านในนิดหน่อย
สำหรับเช็ควาล์ว เนื่องจากเช็ควาล์วมีเกลียวในไม่กี่เกลียว จึงควรพันเทปเฉพาะช่วงปลายเท่านั้น
กาวทาท่อ
กาวกระป๋องมีไว้เชื่อมท่อพีวีซีเข้ากับอุปกรณ์เข้าด้วยกัน
หากไม่ใช่กาวกระป๋องที่มีแปรงมาด้วย (จะราคาแพงกว่ากระป๋องปกติที่ไม่มีแปรง) สามารถใช้แปรงสีฟันเก่าแทนได้
ให้ใช้แปรงจุ่มลงไปในกระป๋องกาว แล้วทาวบนผิวภายนอกของท่อและผิวภายในของอุปกรณ์ก่อนที่จะเชื่อมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน
กาวทาท่อมีหน้าที่ละลายผิวของท่อพีวีซี แล้วเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน ควรซื้อเป็นกระป๋องเล็ก เพราะพอใช้แล้วมันมักจะข้น บางทีปิดฝาไม่สนิทก็จะแข็งเสียไปเลย
สำหรับในการใช้งาน ผู้ผลิตบอกว่าให้ใช้ท่อได้ 24ชั่วโมงหลังจากต่อท่อเสร็จ แต่ถ้าไม่ได้ใช้ในงานแรงดันสูงรอแค่15-30นาทีก็ได้
เครื่องมือช่าง
การตัดท่อพีวีซี:
ใช้เลื่อยตัด
การใช้เลื่อย ควรตัดให้ตรง แต่ไม่ตรงก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา
เลื่อยที่ใช้ ควรใช้ใบเลื่อยที่มีฟันละเอียดขนาด24ฟัน/นิ้ว หากใช้18ฟัน/นิ้ว จะสะดุดเหลี่ยมท่อทำให้ฟันหรือใบหักได้ หากใช้32ฟัน/นิ้ว จะต้องออกแรงมากขึ้น
การใช้กรรไกรตัดท่อ
กรรไกรตัดท่อจะใช้ง่ายกว่าและเหมาะกับการตัดท่อที่มีขนาดเล็กกว่า 2” หากจะต้องการตัดท่อเยอะๆ หรือไม่ถนัดใช้เลื่อยก็สามารถใช้กรรไกรแทนครับ ราคาก็ไม่แพงมาก
ก่อนตัด จับกรรไกรอ้าให้สุดจนกระเดื่องเกี่ยวแง่ง แล้วค่อยบีบตัดท่อ
นอกจากนี้แล้วยังมีอีกสองอุปกรณ์ที่ควรมีก็คือ ประแจที่เหมาะสำหรับการจัดท่อและการหมุนเข้าเกลียว และตัววัดระดับน้ำที่มีไว้เช็ดระดับท่อ
เมื่อไรที่ทำเองได้ เมื่อไรที่ต้องจ้างช่างประปา
หากคิดว่างานใช้เวลาเกินกว่าที่คุณมีหรือต้องใช้ความรู้เยอะเกินไปก็จ้างช่างได้ครับ แต่ควรจะใช้เวลาศึกษาและเปรียบเทียบราคานิดนึง
อุปกรณ์ประปาหาซื้อได้ง่ายและมีวิธีการต่อที่ทำได้ง่าย จะให้ทำเองก็คงไม่มีปัญหา
แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการต่อท่อด้วยตัวเองคือการวางระบบความดันน้ำครับ ยิ่งเวลามีหลายห้องหรือตึกหลายชั้นจะยิ่งยาก
หากเป็นระบบน้ำของบ้านทั้งหลังและต้องเดินน้ำหลายชั้นแนะนำให้มีคนช่วยดูดีกว่าครับ แต่ถ้าเป็นระบบน้ำแบบการเกษตร บ้านและสวน หรือ ระบบท่อน้ำทิ้ง พวกนี้ใช้ความดันน้ำต่ำและไม่ค่อยมีปัญหาในกาใช้งานภายหลัง แค่เราระวังในการประกอบท่อได้ก็โอเคแล้ว
ข้อแนะนำก่อนเดินระบบประปาแบบซับซ้อน
อีกเรื่องที่ต้องคิดก็คือความสวยงานในการทำระบบ ระบบประปาที่เราทำเองอาจจะใช้ได้จริงแต่ดูไม่สวยงามเท่าช่างมีฝีมือทำ ถ้าเป็นระบบงานประปาภายในบ้านอาจจะต้องใช้อินทีเรีย หรือไม่ก็ลองศึกษาวิธีออกแบบก่อนเริ่มทำนะครับ หาดูรูปในอินเตอร์เนตเอาก็ได้
เรื่องสุดท้ายก็คือค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ระบบงานที่มีความซับซ้อนเช่นงานท่อฝังดินหรือท่อฝังเพดานอาจจะต้องใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่นงานท่อฝังดินต้องจ้างรถขุดดินมาคิดเป็นค่าเช่ารายวัน ถ้าเราทำเองก็ต้องลองหาข้อมูลดูครับ แต่ถ้าเป็นช่างเค้าน่าจะมีคนที่รู้จักอยู่แล้ว (ช่างส่วนมากไม่มีรถขุดดินเอง)
ข้อดีของการทำระบบประปาเอง
ข้อดีของการต่อระบบประปาด้วยตัวเองอย่างแรกก็คือช่วยประหยัดเงินค่าช่างประปาได้เยอะ
ค่าลงระบบประปาสำหรับท่อขนาดเล็ก (ท่อประปาในบ้านทั่วไป) หากเทียบกับค่าวัสดุเองแล้วก็ถือว่าแพงกว่ากันเกือบเท่าตัวเลย ที่สำคัญคือเราไม่ต้องลำบากเรื่องการหาคนมาทำหรือนัดวันกับช่างด้วยครับ หากใครชอบทำงานด้วยตัวเองและไม่อยากเสียเวลาหาข้อมูลช่างก็สามารถเลือกทำระบบประปาเองได้
การต่อระบบประปาเองสำหรับคนชอบงานพวกนี้จะสนุกมากครับ ได้คิดและออกแบบอะไรด้วยตัวเอง และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ถือว่าศึกษาเรื่องง่ายในระหว่างที่มีเวลา เผื่อตอนที่จะต้องจ้างช่างทำระบบขนาดใหญ่จะได้มีความรู้เพิ่มครับ
ข้อดีของระบบประปาก็คือมันไม่ได้อันตรายเท่าระบบไฟฟ้าครับ ทำผิดก็แค่จ้างคนมาช่วยซ่อมงานและเปลืองค่าน้ำนิดหน่อย แต่ไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิตอย่างการทำไฟรั่ว
Comments